เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 พ.ค. กลุ่มสมาชิก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จำนวนมาก พร้อมกันแต่งการชุดดำได้เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2557 จาก 27.28% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล เป็น 30%
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปิดการจราจรตั้งแต่ถนนบริเวณแยกพิษณุโลกถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ทำให้ผู้ที่สัญจรต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน ขณะที่ กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงมาปราศรัยต่อการทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เทศบาลของแต่ละจังหวัดที่เข้าร่วมชุมนุมได้นำรถสุขาเคลื่อนที่มาจอดให้บริการด้วย นอกจากนี้ อบจ.จันทบุรีได้นำรถหกล้อบรรทุกมังคุดมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ชุมนุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำที่ได้ปราศรัยบนเวที ได้กล่าวโจมตีรัฐบาล โดยระบุว่า หากรัฐบาลยังไม่มีคำตอบให้ อปท. ก็จะทำการชุมนุมยืดเยื้อ พร้อมประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเตรียมเป็นฝ่ายค้านได้เลย อีกทั้ง จะตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นไทย ขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในท้องถิ่นด้วย
ต่อมา ตัวแทนผู้ชุมนุมจากม็อบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 33 คน ได้เข้าหารือกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ณ ตึกบัญชาการ โดยใช้เวลาพูดคุยกว่า 1 ชั่วโมง
นายจารุพงศ์ กล่าวภายหลังการหารือว่า รัฐบาลพยายามจะจัดสรรงบประมาณให้กับอปท. 28%โดยจะขอแปรญัตติเพิ่มเติม ซึ่งอปท.ก็รับได้พูดคุยกันรู้เรื่อง ส่วนปีต่อๆไปค่อยขยับกัน โดยวันที่ 6-7 มิ.ย. คณะกรรมการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นจะมีการประชุมกัน
สำหรับข้อเสนอเรื่องเงินเดือน 15,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะพยายามขับเคลื่อนให้ ซึ่งภายหลังการให้สัมภาษณ์ นายจารุพงศ์พร้อมด้วยนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เดินทางไปพบม็อบบริเวณพื้นที่ชุมนุมและมีการพูดคุยถึงข้อตกลง
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยอมรับในข้อตกลงร่วมกับรัฐบาล และได้มีการมอบดอกไม้ให้กับนายจารุพงศ์ พร้อมชูป้ายสีชมพูซึ่งมีข้อความว่า “รัฐบาลสัญญางบปี 57 เป็น 28 เปอร์เซ็นต์ ท้องถิ่นรอสัญญาภายในก.ค.56” จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางกลับ